ส่งเสริมต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยชุมชนหานโพธิ์

กิจกรรมที่ 5 เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย28 ตุลาคม 2020
28
ตุลาคม 2020รายงานจากพื้นที่ โดย Fishhanpho
circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง
  1. กรรมการประสานงานนัดรวมสมาชิกโครงการฯ และชักชวนชาวบ้านที่สนใจทั่วไป แจ้งวันที่ เวลา และสถานที่เข้าร่วมการอบรมกิจกรรมที่ 5
  2. ประสานงานผู้จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้เข้าร่วมการอบรม
  3. จัดเตรียมสถานที่เครื่องขยายเสียงและอุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็นต้องใช้
  4. เตรียมเอกสารชุดความรู้เรื่อง อาหารและการผลิตอาหารสัตว์น้ำ เอกสารแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย
circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม

กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกบ้านศาลาไม้ไผ่ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยแบบปลอดภัย กับกลุ่มสมาชิกในโครงการต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยชุมชนหานโพธิ์ ดังนี้ .. 1. การเลือกลูกพันธ์ปลาดุกบิ๊กอุย ให้เลือกซื้อจากฟาร์มที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากหน่วยงานราชการแล้ว เพราะเวลาปลามีปัญหาจะได้ทราบที่มาที่ไปของลูกปลาได้ และลักษณะของลูกปลาที่ควรนำมาเลี้ยง จะต้องมีความแข็งแรง ดวงตาใสแจ๋ว มีการขยับร่างกายอย่างคล่องแคล่ว ไม่มีแผลตามลำตัว มีขนาดตั้งแต่ 3 นิ้วขึ้นไป เพราะสามารถกินอาหารได้ดีและ อัตราการรอดจะสูงกว่าปลาที่มีขนาดเล็ก

  1. ศึกษาความแตกต่างของลูกพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย กับปลาดุกพันธุ์อื่นๆ โดยการสังเกตุที่ข้างลำตัวของลูกปลาดุกบิ๊กอุย จะมีลายจุดสีขาวแบบประแป้ง เรียงขวางตามลำตัว และตรงโคนของศีรษะ จะมีรอยหยัก 3หยัก แต่ปลายของหยักจะไม่แหลมมากไม่เหมือนปลาดุกรัสเซีย และถ้าเป็นปลาดุกอุย (ปลาดุกบ้าน หรือดุกเนื้ออ่อน) รอยหยักจะโค้งมนไม่แหลม

  2. วิธีการให้อาหารปลา จะต้องเลือกให้ตามอายุหรือวัยของลูกปลา คือ
    ....3.1) ปลาวัยอนุบาล (อายุ 0.5-1เดือน) -----> ต้องให้อาหารที่มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 35% ....3.2) ปลาวัยรุ่น (อายุ 1-2.5 เดือน) --------> ต้องให้อาหารที่มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 30-32% ....3.3) ปลาวัยโตถึงจับขาย (อายุ 2.5 เดือนขี้นไป) -----> ต้องให้อาหารที่มีโปรตีน 25- 28%

  3. อาหารเลี้ยงปลาดุกที่ทางกลุ่มหานโพธิ์ผลิตใช้ ยึดหลักความปลอดภัยของวัตถุดิบ หาได้ในชุมชน และได้สารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนตรงตามความต้องการของปลา รวมทั้งจะต้องเป็นอาหารที่ย่อยง่าย และช่วยลดปัญหาน้ำเสียในบ่อปลา หลักการที่ใช้ก็คือ วัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร ถ้าเป็นพืชที่ลำต้นอวบน้ำ เช่น หยวก หญ้าเนเปีย หญ้าหวาน เป็นต้น จะต้องนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์จากนมเปรี้ยวและจากแป้งข้าวหมากเสียก่อน เพื่อให้เยื่อใยถูกย่อยและปลากินได้ง่าย ส่วนวัตถุดิบที่เป็นปลายข้าว หรือกากถั่วเหลือง จะต้องทำให้สุกเสียก่อนเพื่อทำให้แป้งถูกย่อยได้ดี ปลาท้องไม่อืด และนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าแบบดิบ

  4. ผลจากการเลี้ยงด้วยอาหารปลาที่ทำเอง พบว่าปลาดุกมีอัตราการโตที่ดี เพราะเมื่อนำปลาดุกที่มีอายุ 57 วันมาชั่งน้ำหนักดู พบว่าหนักเฉลี่ยตัวละ 100 กรัม หรือประมาณ 10 ตัวต่อกิโลกรัม จึงทำให้ทางกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกบ้านศาลาไม้ไผ่ มีความสนใจที่จะทำอาหารสูตรเดียวกันกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกปลอดภัยบ้านหานโพธิ์

  5. การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคในการปั้น การเก็บรักษาอาหารปลาดุกทำเองช่วงหน้าฝน คือ จะต้องปั้นให้ก้อนเล็กลงกว่าเดิม (ปกติปั้นก้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 ซม.) เพื่อให้อาหารแห้งเร็ว และจะต้องสเปร์หัวเชื้อจุลินทรีย์ให้ทั่วถึงจริงๆ ก้อนอาหารจะไม่ขึ้นรา และจะต้องทำในปริมาณที่พอดีให้ปลากินให้หมดใน 7 วัน แล้วจึงทำใหม่ การเตรียมวัตถุดิบช่วงหน้าฝนควรจะต้องซื้อมาเผื่อไว้ จะได้ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการเดินทางหน้าฝน เพราะจำทำให้อาหารเปียกฝนได้ง่าย เกิดความชื้น และขึ้นรา

  6. วิธีการให้อาหารปลาแบบปั้นก้อน คือ การนำอาหารใส่ลงไปในถุงอวน หรือ ตะกร้าที่มีตากว้างพอประมาณ แล้วนำไปหย่อนในกระชังหรือในบ่อ ให้ปลาได้ตอดกิน เมื่อปลากินหมด ก็ให้เพิ่มปริมาณใหม่ และดูว่าปลาจะกินเหลือหรือไม่ ก็ให้ปรับลดปริมาณอาหารลงตามความเหมาะสม วิธีนี้จะช่วยลดการสูญเสียอาหาร ดีกว่าการโยนอาหารลงไปในบ่อ โดยไม่รู้ว่าต้องโยนลงไปเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ เพราะเราไม่สามารถมองเห็นว่าปลากินหมดจริงหรือไม่

  7. การเพิ่มจำนวนมื้ออาหารของปลา เมื่อเห็นว่าปลาของตนโตไม่ทันเท่ากับปลาของคนอื่น ทั้งที่เป็นปลาดุกรุ่นเดียวกันและเริ่มเลี้ยงพร้อมกัน โดยการเพิ่มมื้ออาหารสามารถทำได้จากเดิม คือ วันละ 1-2 มื้อ ก็เพิ่มเป็นวันละ 3 มื้อแทน วิธีนี้จะทำให้ปลาโตเร็วขึ้นได้ แต่จะต้องเพิ่มตอนที่ปลาดุกอายุยังไม่มาก(ไม่ควรเกิน 4 เดือน) เพราะปลายังอยู่ในวัยที่เจริญเติบโต กระเพาะอาหารยังไม่ลีบ และมื้อที่เพิ่มควรเป็นมื้อกลางวันมากกว่ามื้อเย็น เนื่่องจากมื้อเย็นถ้าปลากินอาหารมากเกินไป จะมีปัญหาเรื่องการย่อย และการใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญอาหาร เพราะเวลาใกล้ค่ำ ปริมาณออกซิเจนในน้ำจะต่ำ ทำให้ปลามีปัญหาเรื่องการขาดออกซิเจนได้