ส่งเสริมต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยชุมชนหานโพธิ์

กิจกรรมที่ 6 เวทีวิเคราะห์ผลการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย30 มกราคม 2021
30
มกราคม 2021รายงานจากพื้นที่ โดย Fishhanpho
circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง
  1. กรรมการประสานงานนัดรวมสมาชิกที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และชักชวนชาวบ้านที่สนใจทั่วไป แจ้งวันที่ เวลา และสถานที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ 6 เวทีวิเคราะห์ผลการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย
  2. ประสานงานเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม และ เพื่อประสานงานการส่งเอกสารขอตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัยแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  3. ประสานงานผู้จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
  4. จัดเตรียมสถานที่ เครื่องขยายเสียง ป้ายโครงการ และอุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็นต้องใช้
  5. เตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม

ประธานโครงการชวนสมาชิก..ทบทวนวัตถุประสงค์การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยแบบปลอดภัยของกลุ่ม..ซึ่งมี 3 ประการ คือ

  1. ปลาดุกที่สมาชิกเลี้ยงเพื่อรับประทานเป็นอาหารจะต้องมีความปลอดภัยต่อการบริโภค โดยสามารถผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย(Safety Level : SL) ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80ของสมาชิกที่ทำการเลี้ยง
  2. อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาดุกแบบปลอดภัย จะเน้นใช้อาหารที่สมาชิกในกลุ่มผลิตขึ้นเอง โดยมีการใช้พืชอาหารที่สามารถจัดหาได้ในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสม และทั้งนี้จะต้องช่วยลดต้นทุนค่าอาหารปลาลงให้ได้ร้อยละ 50
  3. การเลี้ยงปลาดุกแบบปลอดภัยด้วยหลักการจัดการของกลุ่ม จะต้องทำให้ปลามีอัตราการรอดอย่างน้อยร้อยละ 80

การวิเคราะห์ผลการเลี้ยง มีดังนี้

1. ด้านการผลิตอาหารปลาดุก และผลต่อการเจริญเติบโตของปลา

1.1) อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาดุกในโครงการ มี 3 แบบ โดยแบ่งตามระดับของปริมาณโปรตีนที่ใช้ ดังนี้

1.1.1) อาหารปลาโปรตีน 40% ---> สำหรับปลาดุกอายุ 15วัน - 1เดือน ทางกลุ่มไม่ได้ผลิต แต่จัดซื้ออาหารกระสอบที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมาใช้แทน เนื่องจากเห็นว่าเป็นอาหารที่ใช้น้อย และลูกปลาเล็กๆ สามารถกินได้ง่าย เพราะอาหารเม็ดสามารถลอยน้ำอยู่ได้นาน ไม่เหมือนอาหารปั้นก้อนที่ทางกลุ่มทำขึ้น ปลาจึงตอดกินได้นานขึ้น

1.1.2) อาหารปลาโปรตีน 32% ---> สำหรับปลาดุกอายุ 1-2.5เดือน ทางกลุ่มได้ผลิตขึ้นเอง โดยใช้พืชวัตถุดิบในท้องถิ่นมาผสมคือ หยวกกล้วยหมัก และปลายข้าว ส่วนวัตถุดิบที่ต้องซื้อจากนอกท้องถิ่น คือ ปลาป่น กากถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม และเกลือ

1.1.3) อาหารปลาโปรตีน 28% ---> สำหรับปลาดุกอายุ 2.5 เดือนขึ้นไป ทางกลุ่มได้ผลิตขึ้นเอง โดยใช้พืชวัตถุดิบในท้องถิ่นคือ หยวกกล้วยหมัก หญ้าเนเปียร์ แหนแดง และปลายข้าว ส่วนวัตถุดิบที่ต้องซื้อจากนอกท้องถิ่น คือ ปลาป่น กากถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม และเกลือ

1.2) การเจริญเติบโตของปลาดุกบิ๊กอุยเมื่อเลี้ยงด้วยอาหารที่ทางกลุ่มจัดหาและผลิตขึ้น

ปลาดุกบิ๊กอุยที่ทางกลุ่มจัดหามาให้สมาชิกเลี้ยงแบบใส่กระชัง รวมทั้งหมด 2,000ตัว โดยแบ่งให้สมาชิกแยกไปเลี้ยง 10 คน คนละ 200ตัว มีการใช้อาหารร่วมกันทั้งหมด 530 กิโลกรัม ได้แก่ --->อาหารเม็ดกระสอบที่มีโปรตีน 40% ซื้อจากตลาด รวมจำนวน 30กิโลกรัม

--->อาหารที่ผลิตขึ้นเอง ที่มีโปรตีน 32% รวมจำนวน 200 กิโลกรัม และ

--->อาหารที่ผลิตขึ้นเอง ที่มีโปรตีน 28% รวมจำนวน 300 กิโลกรัม

--->ผลจากการจับปลามาชั่งน้ำหนักเพื่อตรวจดูความเจริญเติบโตพบว่า

1.2.1) เมื่อนำปลาดุกบิ๊กอุยที่มีอายุ 57วัน มาชั่งน้ำหนัก ก็พบว่าปลามีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 100 กรัม หรือประมาณ 10 ตัวต่อกิโลกรัม หรือปลาดุก 2,000 ตัวมีน้ำหนักรวมทั้งหมด 200กิโลกรัม ซึ่งเมื่อนับปริมาณอาหารที่ปลาดุกได้กินเข้าไปเท่ากับ 165 กิโลกรัม คิดอัตราแลกเนื้อหรืออัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ(Feed Conversion) ได้เท่ากับ 0.8:1 หมายถึงปลาดุกกินอาหาร 0.8 กิโลกรัม จะได้น้ำหนักเนื้อ 1 กิโลกรัม

1.2.2) เมื่อนำปลาดุกบิ๊กอุยที่มีอายุ 105วัน (3.5 เดือน) มาชั่งน้ำหนัก ก็พบว่าปลามีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 200 กรัม หรือประมาณ 5 ตัวต่อกิโลกรัม ซื่งถือเป็นขนาดที่ตลาดต้องการและเริ่มรับซื้อ เพราะสามารถนำไปแปรรูปได้แล้ว ทั้งทำปลาแดดเดียว และปลาดุกร้า
เมื่อรวมน้ำหนักปลาดุกทั้งหมด 2,000ตัว จะได้เท่ากับ 400กิโลกรัม และปริมาณอาหารที่ปลาดุกกินเข้าไปเท่ากับ 430 กิโลกรัม คิดอัตราแลกเนื้อหรืออัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ(Feed Conversion) ได้เท่ากับ 1.1:1 หมายถึงปลาดุกกินอาหาร 1.1 กิโลกรัม จะได้น้ำหนักเนื้อปลา 1 กิโลกรัม

1.2.3) สรุปผลการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย ...การเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย ด้วยอาหารที่ทางกลุ่มจัดหาและคิดสูตรผลิตขึ้นนั้น จะทำให้ปลาดุกเจริญเติบโตจนเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีขนาดน้ำหนักที่ 5ตัวต่อกิโลกรัม หรือหนักตัวละ 200กรัม มีอัตราแลกเนื้อเท่ากับ 1.1:1 และใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 3เดือนครึ่ง แสดงให้เห็นว่าสูตรอาหารปลาที่ทางกลุ่มจัดหาและผลิตขึ้น ทำให้ปลามีอัตราแลกเนื้อที่ดี หรือมีค่าอัตราแลกเนื้อที่ต่ำ คือ ปลากินอาหารไม่มากแต่เจริญเติบโตดี
โดยจากประสบการณ์การเลี้ยงปลาดุกของสมาชิกหลายท่านพบว่า ที่ผ่านมาจะเลี้ยงปลาดุกด้วยอาหารเม็ดกระสอบที่ซื้อจากตลาดเท่านั้น และปลาดุกที่ได้ จะมีอัตราแลกเนื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5:1 (กินอาหาร 1.5 กก.ได้น้ำหนักปลา 1 กก.) โดยถ้าเกษตรกรเลี้ยงปลาแล้วมีอัตราแลกเนื้อสูงหรือปริมาณอาหารที่ใช้มาก จะทำให้เกษตรกรขาดทุน แต่ถ้ามีอัตราแลกเนื้อต่ำจะทำให้เกษตรกรได้ผลกำไร

2. ด้านการลดต้นทุนค่าอาหารปลา ...ต้นทุนค่าอาหารจะขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ให้ปลาดุกกิน ราคาอาหารจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณโปรตีนในอาหาร โดยอาหารที่มีโปรตีนสูงจะมีต้นทุนราคาที่สูงกว่า

2.1) ค่าอาหารปลาของโครงการฯ ในการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยจนได้ขนาดที่ตลาดรับซื้อ (น้ำหนัก 5ตัวต่อกิโลกรัม) ของโครงการฯ จำนวน 2,000ตัว จะใช้อาหารไป 430 กิโลกรัม รวมเป็นเงินทั้งหมด 8,350 บาท หรือ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 19 บาท

ค่าอาหารของโครงการ 8,350 บาท แยกออกตามปริมาณโปรตีน ดังนี้

2.1.1) อาหารปลาดุกโปรตีน 40% ...ซื้อสำเร็จรูป...ราคายกกระสอบกิโลกรัมละ 65 บาท จำนวนที่ใช้ 30 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 1,950 บาท

2.1.2) อาหารปลาดุกโปรตีน 32% ...ซื้อวัตถุดิบมาทำเอง...ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 17 บาท จำนวนที่ใช้ 200 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,400 บาท

2.1.3) อาหารปลาดุกโปรตีน 28% ...ซื้อวัตถุดิบมาทำเอง...ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 15 บาท จำนวนที่ใช้ 200 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,000 บาท

2.2) ค่าอาหารปลาที่จำหน่ายในท้องตลาด ของอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จะมีราคาขายปลีก และขายยกกระสอบ ดังนี้

2.2.1) อาหารปลาดุกโปรตีน 40% ...กิโลกรัมละ 75 บาท จำนวนที่ใช้ 30 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 2,250 บาท / ยกกระสอบ คิดเป็นเงิน 1,950 บาท

2.2.2) อาหารปลาดุกโปรตีน 32% ...กิโลกรัมละ 30 บาท จำนวนที่ใช้ 200 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 6,000 บาท / ยกกระสอบ คิดเป็นเงิน 5,000 บาท

2.2.3) อาหารปลาดุกโปรตีน 28% ...กิโลกรัมละ 25 บาท จำนวนที่ใช้ 200 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 5,000 บาท / ยกกระสอบ คิดเป็นเงิน 4,600 บาท

2.3) ผลการเปรียบเทียบ..ค่าอาหารปลา..ที่จำหน่ายในท้องตลาดกับค่าอาหารปลาของโครงการฯ ...พบว่า... ต้นทุนค่าอาหารปลาของโครงการฯ มีราคาถูกกว่าอาหารเม็ดกระสอบในตลาด กิโลกรัมละ 12 บาท(ราคาปลีก) หรือ 8บาท (ราคายกกระสอบ) ---> ต้นทุนค่าอาหารปลาของโครงการเฉลี่ยกิโลกรัมละ 19 บาท แต่ราคาที่ซื้อตามท้องตลาดค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 31 บาท (ราคาขายปลีก) หรือ 27บาท (ราคายกกระสอบ)
จึงกล่าวได้ว่า ผลการผลิตอาหารปลาดุกของโครงการฯ สามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหารปลาดุกในราคาปลีกลงได้ ร้อยละ 39 และในราคายกกระสอบลดลงได้ร้อยละ30...ซึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ร้อยละ 50
การเรียนรู้สาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถลดต้นทุนค่าอาหารปลาดุกบิ๊กอุยลงได้ร้อยละ 50 สมาชิกจะได้ร่วมกันวิเคราะห์ในกิจกรรมที่ 11 การประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา

4. ด้านอัตราการรอด ปลาดุกบิ๊กอุย ที่ให้สมาชิกไปเลี้ยงคนละ 200 ตัว ทางกลุ่มจะให้สมาชิกนับจำนวนการรอดชีวิต โดยดูจากการตายของปลา โดยใช้หลักธรรมชาติที่ว่าเมื่อปลาตาย ปลาจะลอยน้ำขึ้นมาให้เห็น โดยเป้าหมายของกลุ่มตามโครงการการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยแบบปลอดภัย ปลาจะต้องมีอัตราการรอดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 นั่นคือ ปลาดุก 200 ตัวจะต้องมีปลาตายไม่เกิน 40 ตัวผลปรากฎว่าปลาดุกของสมาชิกมีอัตราการรอดเกินร้อยละ 80 ทุกคน ปลาดุกของสมาฃิกที่ตายมากที่สุดอยู่ที่ 10ตัว คือปลาของนางสาวปัทมา

5. ด้านความปลอดภัย ........สมาชิกส่งปลาดุกที่เลี้ยงในโครงการฯ ไปตรวจขอใบรับรองมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย(Safety Level : SL) กับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดพัทลุง ทั้งหมด 9 ราย และได้รับใบรับรองฯ ครบทั้ง 9 ราย ออกให้ ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 ...ส่วนอีก 1 รายที่ไม่ส่งปลาดุกไปตรวจเจ้าตัวอ้างว่าติดปัญหาการจัดการเอกสารที่ดิน **ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ผลการเลี้ยงปลาดุกแบบปลอดภัยของกลุ่มได้บรรลุเป้าหมาย เพราะสมาชิกสามารถผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย (Safety Level : SL) ได้เกินร้อยละ 80


...