ส่งเสริมต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยชุมชนหานโพธิ์

กิจกรรมที่ 11 การประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา14 มีนาคม 2021
14
มีนาคม 2021รายงานจากพื้นที่ โดย Fishhanpho
circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง
  1. เลขากลุ่มช่วยประสานงานสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยชุมชนหานโพธิ์ เพื่อแจ้งวันที่ เวลา และสถานที่เข้าร่วมกิจกรรมการประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา
  2. ประสานงานผู้จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม
  3. จัดเตรียมสถานที่ หรือเอกสาร และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในกิจกรรม เช่น บอร์ดและกระดาษรองเขียน ปากกาเคมี เป็นต้น
circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม

เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการมีความเจริญก้าวหน้า และสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ สมาชิกได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมร่วมกัน หลายประการ จำแนกได้ดังนี้

1. ด้านบุคคล

1.1) ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

1.2) ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเคารพกฎและกติกาของกลุ่ม หากมีเหตุสงสัยว่าจะทำผิดกฎหรือกติกา ก็ให้แจ้งกับที่ประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน

1.3) ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องให้ความใส่ใจกับการจดบันทึกข้อมูล เช่น การจดบันทึกปริมาณการให้อาหารปลา วิธีการให้อาหาร และการพบปัญหาระหว่างการเลี้ยง เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลถ่ายทอดให้แก่บุคคลอื่นต่อไปในอนาคต

2. ด้านการใช้เวลาร่วมกันเพื่อทำกิจกรรม การกำหนดเวลาการทำกิจกรรม เช่น การประชุมกลุ่มประจำเดือน ควรจะกำหนดเวลาให้ตายตัวไว้ล่วงหน้าในระยะยาว เพื่อให้สมาชิกได้ล็อคเวลาเพื่อให้ว่างตรงกันได้ เพราะถ้าสมาชิกไม่เข้าร่วมประชุมพร้อมกัน จะทำให้การรับทราบปัญหาไม่เท่ากัน และทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าได้

3. ด้านการผลิตอาหารปลาดุกปลอดภัย สมาชิกของโครงการได้ทราบถึงหลักการ การใช้เลือกใช้วัตถุดิบมาเป็นแหล่งพลังงานของปลาเพื่อให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อการบริโภคเป็นสำคัญ

3.1) พืชอาหารที่มีในท้องถิ่นชุมชนหานโพธิ์ ที่สามารถใช้ทำอาหารปลาได้ ..ได้แก่.. หยวกกล้วย หญ้าเนเปียร์ แหนแดง กากมะพร้าว รำข้าว และปลายข้าว เป็นต้น

3.2) หลักการเลือกใช้พืชอาหารเพื่อมาทำเป็นอาหารปลา จะต้องคำนึงถึง

  3.2.1) มีปริมาณเพียงพอต่อการผลิตอาหารปลาแต่ละครั้ง

  3.2.2) พืชที่ใช้ควรจะมีปริมาณโปรตีนสูง เพราะจะช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้มาก การค้นหาว่าพืชชนิดใดมีปริมาณโปรตีนเท่าใด สามารถค้นได้จากเอกสารความรู้ที่บ่อเรียนรู้การเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยของชุมชน หรือค้นหาข้อมูลจากกูเกิ้ล (Goo gle) เช่น พืชที่มีโปรตีนสูงที่สุดในสูตรอาหารที่ทางกลุ่มผลิตขึ้น ได้แก่ แหนแดงสายพันธุ์ อซอลล่า ไมโครฟิลล่า ที่กรมวิชาการเกษตรส่งเสริมให้เลี้ยง ซึ่งมีโปรตีนสูงถึง 30% แบบสด และมีโปรตีน 27% แบบแห้ง เป็นต้น

  3.2.3) การใช้หญ้าเนเปียร์มาทำอาหารปลา ควรจะเลือกที่มีอายุไม่เกิน 30 วัน เพราะหญ้าจะมีความอ่อนตัวสับเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ง่าย ปลากินได้ง่าย และที่สำคัญมีโปรตีนสูงกว่าหญ้าที่มีอายุมากขึ้น โปรตีนในหญ้าเนเปียร์ปกติจะอยู่ที่ร้อยละ 18-20 และปริมาณโปรตีนในหญ้าเนเปียหมักจะอยู่ที่ร้อยละ 15.69 (ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้,2560)

  3.2.4) การเลือกใช้หยวกกล้วย แม้จะเป็นพืชที่มีปริมาณโปรตีนต่ำกว่าพืชชนิดอื่น แต่ก็มีข้อดีคือ เป็นพืชที่หาได้ง่าย ปลูกขยายพันธุ์ได้ง่าย ต้นทุนการดูแลรักษาน้อย ไม่เปลืองปุ๋ยถ้าเทียบกับการปลูกหญ้าเนเปียร์ และสามารถแตกหน่อได้เร็ว ส่วนการเลี้ยงแหนแดง ก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้พื้นที่เลี้ยง เพราะต้องเลี้ยงในน้ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเกษตรกรเป็นสำคัญว่าจะสะดวกกับการจัดการพืชชนิดใด เพราะบางครั้งเกษตรกรก็สามารถนำพืชในแต่ละชนิดมาผสมรวมกันได้ แต่ทั้งนี้จะต้องคำนวนหาปริมาณโปรตีนในอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของปลาในแต่ละวัยนั่นเอง ปริมาณโปรตีนในหยวกหมักจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 (ที่มา : พงษ์ชาญ,2556)

  3.2.5) การใช้แหนแดงมาทำอาหารปลา ควรจะใช้แบบแห้งที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 60 (แหนแดง 1 กิโลกรัมตากแล้วควรได้แหนแดงแห้ง 600กรัม) จึงจะทำให้อาหารที่ผสมแล้วไม่เปียกแฉะและปั้นเป็นก้อนได้ง่ายกว่าการใช้แหนแดงสด และแหนแดงที่ใช้ควรจะมีอายุไม่เกิน 14 วัน ไม่เช่นนั้นโปรตีนจะลดลง โดยปกติแหนแดงที่มีอายุ 7-10วัน จะมีโปรตีนสูง คือประมาณ 30% ส่วนที่อายุ 14วัน ปริมาณโปรตีนในแหนแดงแห้งจะอยู่ที่ 27.6% (ที่มา : วารสารสัตวศาสตร์แห่งประเทศไทย,2558)

  3.2.6) พืชที่ใช้ จะต้องไม่เป็นสาเหตุให้กระชังอุดตัน เช่น ถ้าใช้กระชังตาถี่มาเลี้ยงปลาดุก การใช้หยวกหมักในปริมาณมาก จะทำให้กระชังถูกอุดตันได้ง่ายกว่า ทำให้การถ่ายเท หรือการไหลของน้ำในกระชังทำได้ไม่ดี จะส่งผลให้ปลาดุกโตช้าได้ แต่ถ้าใช้กระชังตาใหญ่ 2-3 นิ้ว สามารถใช้หยวกปริมาณมากได้ เพราะปัญหาการอุดตันจะไม่มี

3.3 การใช้จุลินทรีย์แลกโตบาซิลลัสในขั้นตอนการหมักพืชอาหารสัตว์น้ำ ..มีประโยชน์ดังนี้

3.3.1) ประโยชน์ในการยืดอายุการเก็บรักษาวัตถุดิบ เช่น การทำหยวกกล้วยหมักทำให้สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นเดือน ช่วยลดเวลาการทำงาน ไม่ต้องเตรียมบ่อย ทำครั้งนึงใช้ได้หลายครั้ง และสามารถเตรียมไว้ในปริมาณมากได้ โดยการหมักยังช่วยรักษาคุณภาพของสารอาหารในพืชสดไว้ได้ โดยเฉพาะแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น แคลเซี่ยม โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แมงกานีส ทองแดง เหล็ก และสังกะสี เป็นต้น

3.3.2) ปลาที่กินอาหารที่มีส่วนผสมของพืชหมักจะสามารถย่อยอาหารได้ดีขึ้น กินอาหารได้ดีขึ้น

3.3.3) ช่วยบำบัดน้ำในบ่อเลี้ยงปลาไม่ให้เสีย ทำให้ปลาไม่เครียด ไม่เป็นโรค และเจริญเติบโตได้ดี เพราะมูลปลาที่ถ่ายออกมาก็จะมีจุลินทรีย์ปนออกมาด้วย

4. ด้านการลดต้นทุนค่าอาหารปลาดุกให้ได้ร้อยละ 50 ...สามารถทำได้โดย

4.1) ลดการใช้อาหารเม็ดกระสอบที่มีโปรตีน 40% ลงให้เหลือปริมาณร้อยละ 5 ของปริมาณอาหาร430 กิโลกรัม โดยแต่เดิมนั้นซื้อมาใช้เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในโครงการ 30 กิโลกรัม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7ของอาหารทั้งหมด(430 กก.) คิดเป็นเงิน 1,950 บาท หรือร้อยละ 23 ของค่าอาหารทั้งหมด(8,350 บาท)

4.2) ผลิตอาหารที่มีโปรตีน40% ขึ้นใช้เอง ปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของปริมาณอาหาร430 กิโลกรัม หรือผลิตขึ้นใช้เองทดแทนอาหารกระสอบแบบ 100%

4.3) ข้อควรคำนึงการผลิตอาหารโปรตีน40% สำหรับปลาวัยอนุบาล ควรคำนึงความง่ายและความสะดวกในการกินอาหารของลูกปลาด้วย ดังนั้นการเลือกใช้พืชอาหารปลา ควรจะใช้หยวกกล้วยหมักหรือหญ้าหมักที่สับให้ละเอียด ถ้าจะใช้แหนแดงก็ควรจะมีการปั่นให้มีชิ้นเล็กลงจนปลาสามารถกินได้ หรือไม่ก็ควรจะเลือกใช้รำละเอียดมาผสมแล้วลดสัดส่วนอาหารหยาบอื่นๆ ลง เป็นต้น

5. ด้านการพัฒนา เพื่อการแก้ปัญหา และต่อยอดการผลิตอาหารปลาปลอดภัยในอนาคต

5.1) ควรจะจัดหาเครื่องสับหญ้าแบบสับละเอียด เพื่อช่วยลดเวลาในขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบสำหรับการหมัก เช่น หยวกกล้วย และหญ้าเนเปียร์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลาในการสับวัสดุให้เป็นชิ้นเล็กๆ ถ้าเกษตรกรต้องการใช้หยวกหรือหญ้าสับในปริมาณมาก ก็ควรจะมีเครื่องทุ่นแรง ที่ช่วยลดเวลาการทำงานลง อีกทั้งเครื่องสับหญ้าก็จะช่วยทำให้ขนาดของหยวกหรือหญ้ามีขนาดที่เท่าๆ กัน ไม่เล็กบ้างใหญ่บ้าง โดยเครื่องสับหญ้าที่เหมาะสมกับงานสับละเอียดควรจะเป็นเครื่องแบบ 4 ใบมีด

5.2) ควรจัดหาเครื่องทุ่นแรงในขั้นตอนในการคลุกเคล้าส่วนผสม เพราะในการทำอาหารปลาจะมีวัตถุดิบหลายอย่าง และถ้าทำในปริมาณมากการคลุกเคล้าด้วยแรงงานคนไม่สามารถทำให้ส่วนผสมเข้ากันได้อย่างทั่วถึง ทำให้คุณภาพอาหารที่ได้ในแต่ละก้อนไม่เท่ากัน เวลาที่ใช้แรงงานคนก็จะนานกว่าใช้เครื่องเคล้าผสม

5.3) ควรจะจัดหาเครื่องอัดเม็ดอาหารปลา แต่เดิมในการทำอาหารปลา ก่อนที่จะนำไปให้ปลากิน ก็จะเอาอาหารนั้นมาปั้นเป็นก้อน แล้วนำไปตากแดดอ่อนๆ ทำให้ต้องใช้เวลาในการตากนานพอสมควร และอาหารก็ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ทำให้ต้องผลิตใหม่บ่อยๆ ทำให้เสียเวลา และทำให้เกษตรกรไม่เกิดแรงจูงใจ และที่สำคัญในช่วงฤดูฝน ความชื้นในอากาศจะสูง จึงทำให้อาหารเกิดเชื้อราได้ง่าย ก่อให้เกิดความเสียหายไม่สามารถนำไปใช้ได้ ต้องนำไปทิ้ง จึงเป็นการเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกร แต่ถ้ามีเครื่องอัดเม็ดอาหารปลา ที่สามารถทำให้อาหารปลามีขนาดเล็กลง ตากแห้งได้เร็ว จัดเก็บได้ง่าย และผลิตได้ครั้งละมากขึ้น จะช่วยลดเวลาการทำงาน อีกทั้งได้อาหารปลาที่เพียงพอ ปลากินได้แบบไม่ขาดตอนอีกด้วย

6. ด้านวิธีการให้อาหารปลาเพื่อการเจริญเติบโตของปลาดุกบิ๊กอุย ขึ้นอยู่กับการใช้อาหารทีเหมาะสมกับช่วงวัย ปริมาณการให้อาหาร และจำนวนมื้ออาหารที่ให้ ดังนี้

6.1) ปลาดุกวัยอนุบาล คือปลาในช่วงอายุ 15 วัน - 1 เดือน ควรจะให้อาหารที่มีโปรตีนไม่ต่ำกว่า40% โดยให้ในปริมาณร้อยละ10 ของน้ำหนักตัว เช่น ปลาดุก 200ตัว หนักรวม1,200กรัม ควรจะให้อาหารวันละ 120กรัม โดยแบ่งให้เป็นมื้อ ไม่ควรต่ำกว่า 2-3 มื้อต่อวัน โดยในวันแรกๆ การให้อาหารปลา จะต้องใช้เวลาสังเกตุดูว่าปลากินอาหารดีหรือไม่อย่างไร จะได้ปรับลดปริมาณของอาหารให้เหมาะสม ช่วยลดการสูญเสียต้นทุนได้ เพราะถ้าให้อาหารในปริมาณมาก แต่ปลาไม่กิน ก็จะทำให้อาหารเน่าเสียไปเปล่าๆ และส่งผลให้น้ำในบ่อเลี้ยงเสียเร็วด้วย

6.2) ปลาดุกวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น คือปลาในช่วงอายุ 1 - 2.5 เดือน ควรจะให้อาหารที่มีโปรตีนไม่ต่ำกว่า32% และควรให้ 2 มื้อต่อวัน ส่วนปริมาณการให้ ก็ควรจะนับต่อยอดมาจากปริมาณอาหารในวัยอนุบาล แต่ปลาในวัยนี้จะเป็นช่วงที่ปลากินอาหารมากที่สุด เพราะเป็นวัยกำลังเจริญเติบโต การเพิ่มปริมาณอาหารจะต้องใช้การสังเกตุด้วยตัวเอง เช่น ถ้าวันนี้ให้ปลากินอาหาร 2กิโลกรัม แต่ปลายังกินไม่อิ่ม วันถัดไปก็ควรเพิ่มปริมาณเป็น 2.5 กิโลกรัม และให้สังเกตุดูว่าปลากินหมดหรือไม่ ถ้ากินหมด ในวันถัดไปก็ลองเพิ่มปริมาณอาหารขึ้นอีกเป็น 3 กิโลกรัม แต่ถ้าปลากินไม่หมดก็ให้ลดลงมาให้เหมาะสม ทั้งนี้ผู้เลี้ยงจะต้องสังเกตุดูและทำการจดบันทึกไว้เป็นบทเรียนด้วย

6.3) ปลาดุกวัยโตจนถึงวัยจับขาย คือปลาในช่วงอายุ 2.5 เดือนขึ้นไป ควรจะให้อาหารที่มีโปรตีน 25-28% โดยให้ 2 มื้อต่อวันก็เพียงพอ ปริมาณการให้อาหารก็ทำเหมือนกันกับปลาวัยเด็ก คือใช้การสังเกตุการของผู้เลี้ยงและทำการจดบันทึก

7. ด้านการสร้างจิตสำนึก สมาชิกของโครงการสามารถผลิตปลาดุกที่มีความปลอดภัย มาเป็นอาหารได้ ทั้งนี้เพราะทุกคนมีความตระหนัก มีความตั้งใจเป็นจุดเริ่มต้น และในการผลิตอาหารปลอดภัยไว้กินเอง และจำหน่ายนั้น จะต้องใช้ความซื่อสัตย์และมีวินัย ไม่ควรทำแบบเห็นแก่ตัว ถ้าตัวเองกินไม่ได้ ก็ไม่ควรให้คนอื่นกิน นี่คือหลักการ ที่สมาชิกได้ยึดถือและจะส่งมอบให้แก่ผู้อื่นต่อไป