ส่งเสริมต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยชุมชนหานโพธิ์

กิจกรรมที่ 12 เวทีสรุปผลการดำเนินงาน30 เมษายน 2021
30
เมษายน 2021รายงานจากพื้นที่ โดย Fishhanpho
circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง
  1. เลขากลุ่มช่วยประสานงานสมาชิกในโครงการส่งเสริมต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยชุมชนหานโพธิ์ และประชาชนที่สนใจทั่วไป เพื่อแจ้งวันที่ เวลา และสถานที่เข้าร่วมเวที การสรุปผลการดำเนินงานการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย
  2. ประสานงานผู้จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม
  3. จัดเตรียมสถานที่ หรือเอกสาร และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในกิจกรรม เช่น บอร์ดและกระดาษรองเขียน ปากกาเคมี เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ เป็นต้น
circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม

จากการดำเนินโครงการส่งเสริมต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัยชุมชนหานโพธิ์ มาเป็นระยะเวลา 10 เดือน ได้ผลสรุปการดำเนินงานตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ดังนี้

1. เกิดกลไกการบริหารจัดการ การผลิตอาหารโปรตีนที่ปลอดภัย โครงการได้เริ่มต้นด้วยสมาชิกทั้งหมด 10 ราย จากการรับสมัครชาวบ้านในชุมชน โดยแต่ละคนจะต้องมีแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงปลาได้ รวมทั้งจะต้องยึดถือและปฎิบัติตาม..กฎกติกาของกลุ่ม 10 ประการ คือ

1) สามารถเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประจำเดือน รวม 10 เดือน เพื่อสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การรับทราบผลการทำงาน และการแก้ปัญหาร่วมกันตามแต่สถานการณ์

2) จัดหากระชังขนาดกว้างคูณยาวไม่ต่ำกว่า 2x3 เมตร สำหรับใช้เลี้ยงปลาดุกของโครงการที่ทำการแจกให้สมาชิกไปทดลองเลี้ยงคนละ 200 ตัว

3) ปลาดุกที่ใช้ในโครงการ คือ ปลาดุกพันธุ์บิ๊กอุยเท่านั้น เพราะเป็นที่นิยมของตลาด และสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลาย

4) ห้ามใช้อาหารเลี้ยงปลาดุกจากที่อื่น ให้ใช้อาหารจากโครงการจัดหา หรือผลิตขึ้นเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย และเพื่อง่ายต่อการบันทึกและนำข้อมูลไปคำนวนหาต้นทุนค่าอาหารปลาได้

5) มีการบันทึกข้อมูลการให้อาหารปลา น้ำหนักปลา ตามแบบฟอร์มที่โครงการจัดให้

6) เก็บตัวอย่างน้ำของบ่อที่จะใช้เลี้ยงปลาดุกปลอดภัย เพื่อส่งตรวจก่อนเลี้ยงจริง เพื่อศึกษาสภาพน้ำเบื้องต้น

7) สามารถปลูกพืชที่ใช้ทำอาหารปลาตามสูตรที่โครงการกำหนดได้

8) ต้องเว้นหรือแบ่งปลาดุกที่เลี้ยงโตแล้วไว้ประมาณ 1 กิโลกรัม ให้โครงการ เพื่อใช้ในการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย (Safety Level) กับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง

9) สามารถบอกต่อผู้อื่นที่สนใจ ถึงองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนได้

10) สามารถพัฒนาเป็นบ่อเรียนรู้ปลาดุกปลอดภัยของโครงการได้ ถ้าโครงการคัดเลือก

2. เกิดกระบวนการเรียนรู้วิธีการผลิตอาหารโปรตีนที่ปลอดภัย โครงการได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาดุก ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

1) วิธีการเตรียมบ่อปลา การปรับสภาพน้ำ และการสร้างกระชังปลา

2) วิธีการคัดเลือกพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย

3) การออกแบบสูตรอาหารปลาดุกปลอดภัย และเทคนิคการให้อาหารปลา ที่มีคุณค่าทางอาหารตรงตามช่วงวัยของอายุ เพื่อให้ปลาดุกมีความเจริญเติบโต แข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรค

4) การจดบันทึกข้อมูลการเลี้ยง เพื่อประสิทธิภาพของผู้เลี้ยงปลา ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการเลี้ยงปลาครั้งต่อไป

5) การตรวจรับรองมารตฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย (Safety Level : SL)

3. เพื่อให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการผลิตอาหารโปรตีนที่ปลอดภัย การเลี้ยงปลาให้ได้ดี มีความปลอดภัยต่อการบริโภคนั้น...จะต้องเริ่มที่ใจ ทั้งนี้ทางโครงการได้ตระหนักดีว่า..การสร้างกำลังใจและความมั่นใจแก่สมาชิกด้วยกันนั้นมีความจำเป็น จึงได้จัดให้มีกิจกรรม..ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้

1) กิจกรรมลงพื้นที่..เพื่อติดตามพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหา และเพื่อการเก็บข้อมูลการเลี้ยงปลาของสมาชิก ประโยชน์ที่ได้รับ คือ ได้เห็นสภาพแวดล้อมของบ่อเลี้ยงปลาและเห็นการเจริญเติบโตของลูกปลา ในสถานการณ์จริง ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างสมาชิกด้วยกันว่า..การเจริญเติบโตของปลานั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หากใครปลาไม่โต หรือโตช้า ก็จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่ามาจากสาเหตุอะไร จะได้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ข้อนี้ถือว่าได้ประโยชน์ในเรื่องการฝึกคิดและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน

2) กิจกรรมประชุมกลุ่มประจำเดือน ช่วยทำให้เกิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น ก่อให้เกิดวิธี เทคนิค เคล็ดลับใหม่ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาดุก ให้ได้ผล หรือแม้แต่การแก้ปัญหาด้านต่างๆ สมาชิกจะช่วยกันบอกเล่าธีการแก้ไขได้ตรงจุด ไม่เสียเวลาลองผิดลองถูก ถือเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมกันของสมาชิก และสามารถตกผลึกเป็นบทเรียนแก่ชุมชนได้

3) กิจกรรมส่งเสริมให้มีการปลูกพืชอาหารสัตว์ เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนค่าอาหารปลา และช่วยสร้างรายได้เสริม เพราะพืชอาหารนั้นสามารถนำไปขายให้แก่สมาชิกท่านอื่นได้ ทั้งนี้ทางโครงการจะเป็นผู้ช่วยจัดหาพันธุ์พืชและปุ๋ยอินทรีย์มาให้สมาชิกในระยะเริ่มต้นปลูก

4) การจัดให้มีบ่อเรียนรู้การเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย เพื่อเป็นตัวอย่างของชุมชน และสังคม และตัวผู้เลี้ยงเองก็จะเกิดความภาคภูมิใจ ที่เห็นความสำเร็จจากการเพียรพยายามผลิตอาหารปลอดภัยมาบริโภคเอง และจำหน่ายแก่ผู้อื่นได้

4. เพื่อให้เกิดต้นแบบการเลี้ยงปลาดุกปลอดภัย ผลการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยของทางกลุ่ม ด้วยวิธีการจัดการ ทั้งการผลิตอาหารปลาขึ้นเอง และเทคนิคการให้อาหารปลาตามช่วงวัยนั้น ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยการตรวจวัดผลจะวัดจากขนาดปลาที่มีอายุ 3.5 เดือน และมีน้ำหนัก 5ตัวต่อกิโลกรัม ดังนี้

1) ปลาดุกบิ๊กอุยมีอัตราการเจริญเติบโตด้วยอัตราแลกเนื้อ(Feed Conversion) เท่ากับ 1.1 : 1 ซึ่งหมายถึงปลาดุกกินอาหารไป 1.1 กิโลกรัม ได้น้ำหนักเนื้อปลามา 1 กิโลกรัม อาหารปลาที่มีอัตราแลกเนื้อต่ำ จะทำให้เกษตรกรได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น

โดยค่าเฉลี่ยอัตราแลกเนื้อของปลาดุก...จากประสบการณ์ที่เคยเลี้ยงของคนทั่วไปด้วยการใช้อาหารเม็ดที่ซื้อจากตลาดจะอยู่ที่ 1.5 : 1 นั่นแสดงให้เห็นว่าสูตรอาหารที่ทางกลุ่มคิดและผลิตขึ้น ช่วยให้ปลาดุกเจริญเติบโตได้ดี และเกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ แต่ทั้งนี้การให้อาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัยของปลา ก็มีผลต่อการเจริญเติบโตเช่นเดียวกัน เช่น ปลาที่อายุยังน้อยควรจะได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูงกว่าปลาในวัยโต เพราะปลาวัยเล็กเป็นวัยที่กำลังสร้างการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ

2) อาหารปลาที่ทางกลุ่มผลิตขึ้น มีต้นทุนค่าเฉลี่ย ดังนี้

2.1) อาหารปลาดุกโปรตีน 32% ...ต้นทุนกิโลกรัมละ 17 บาท

2.2) อาหารปลาดุกโปรตีน 28% ...ต้นทุนกิโลกรัมละ 15 บาท

3) การเลี้ยงปลาด้วยวิธีการผลิตอาหารปลาขึ้นใช้เองร่วมกับการซื้ออาหารปลาแบบเม็ดจากตลาดมาเลี้ยงปลานั้น สามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหารปลาลงได้ร้อยละ 39 (ถ้าซื้อราคาปลีก) หรือลดต้นทุนลงได้ร้อยละ30 (ถ้าซื้อยกกระสอบ)

อาหารเม็ดที่ทางกลุ่มจัดซื้อมาใช้นั้นเป็นอาหารสำหรับลูกปลาอนุบาลมีโปรตีน 40% คิดเป็นสัดส่วนการใช้เพียงร้อยละ 7 จากทั้งหมด 430กิโลกรัม แต่เนื่องด้วยเป็นอาหารที่มีราคาสูงมาก คือ กิโลละ 65-70 บาท จึงทำให้ค่าเฉลี่ยของอาหารทั้งหมดสูงขึ้น ถ้าเกษตรกรสามารถผลิตขึ้นมาเองได้ ด้วยวิธีการที่ทำให้ลูกปลากินได้ง่าย จะสามารถลดต้นทุนค่าอาหารปลาได้มากกว่าร้อยละ 50 ที่เดียว

4) ปลาดุกบิ๊กอุยที่ผ่านการเลี้ยงปลาด้วยวิธีการจัดการของโครงการ ฯ มีอัตราการรอดร้อยละ 80

5) ปลาดุกบิ๊กอุยที่ผ่านการเลี้ยงปลาด้วยวิธีการจัดการของโครงการ ฯ สามารถผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย (Safety Level : SL) จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดพัทลุง เกินเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 80 นั้นแสดงว่าการเลี้ยงปลาด้วยวิธีการจัดการของโครงการฯ สามารถผลิตอาหารโปรตีนที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้สำเร็จ อย่างมีความภาคภูมิใจ