แล้วอะไรคือ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา

by pongthep sutheravut @13 ก.พ. 52 00.38 ( IP : 222...23 )

การพัฒนาประเทศของไทยมีจุดหมายสำคัญ คือ การสร้างความเจริญ  การทำให้ผู้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี  และ ทำให้สังคมมีสุขภาวะ  การจะบรรลุจุดหมายดังกล่าวภายใต้สังคมที่ซับซ้อน เป็นเรื่องยากเปรียบเหมือนการเขยื้อนภูเขา แนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่กล่าวถึง การทำงานร่วมกันของ 3 ภาคส่วนในการพัฒนาระบบสุขภาพ

ความหมาย

การพัฒนาระบบสุขภาพ โดยการบูรณาการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบในสังคมที่สำคัญ 3 องค์ประกอบคือ องค์ประกอบภาควิชาการ  องค์ประกอบภาคประชาสังคม  องค์ประกอบภาครัฐและการเมือง หากองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน สามารถบูรณาการเข้าด้วยกัน เกิดการใช้ความรู้ ประกอบกับพลังการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม ภายใต้ช่องทางที่รัฐและการเมืองเปิดโอกาสและเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ร่วมกัน ก็จะทำให้เกิดกระบวนการสาธารณะที่ดีนำสู่สุขภาวะของสังคมได้

การประยุกต์ใช้

โดยการเชื่อมประสานภาคส่วนต่อไปนี้

  • ภาครัฐ  ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อำเภอ โรงพยาบาลรัฐ สถานีอนามัย พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  • ภาคท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบจ. อบต. เทศบาล
  • ภาควิชาการ ได้แก่ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ปราชญ์ชาวบ้าน
  • ภาคประชาสังคม ได้แก่ ชุมชน องค์กรภาคประชาชน NGOs

ขั้นตอนการทำงานร่วมกัน เป็นดังนี้

  1. จัดกระบวนการสานเสวนา (เป็นการพูดคุยเชิงบวก เพื่อมุ่งการทำงานพัฒนาร่วมกัน)ให้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาท หน้าที่ การทำงานของแต่ละฝ่าย เข้าใจในจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และข้อจำกัดซึ่งกันและกัน
  2. จัดกระบวนการทำให้ทุกภาคส่วนสร้างวิสัยทัศน์สุขภาวะร่วมกัน และมีการทำงานที่หนุนเสริมซึ่งกันและกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตร

ตัวอย่าง

การขับเคลื่อนแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา ภายใต้การทำข้อตกลงระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสงขลา สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาก็คือการออกแบบกระบวนในการทำแผนอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อให้แผนสุขภาพเป็นที่ยอมรับและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  รวมทั้งเกิดการเชื่อมประสานขององค์กรต่างๆที่สนใจหรือมีภารกิจในประเด็นเดียวกันได้เกิดการเรียนรู้  เข้าใจบทบาทขององค์กรอื่นและเกิดการประสานงานอย่างบูรณาการทั้งในแผนสุขภาพและกระบวนการอื่นนอกแผนสุขภาพ

แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เครือข่ายแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา 83/24  ถนนเพชรเกษม อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  90110 โทรศัพท์ 086-9554909, 074-254483