สมัชชาสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ ท่องเท่าไรก็จำไม่ได้

by pongthep sutheravut @13 ก.พ. 52 00.42 ( IP : 222...23 )

ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 สมัชชาสุขภาพเป็นช่องทางให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามาทำงานร่วมกันในกระบวนการต่อไปนี้

  1. เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคม ในการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ ร่วมกันถกแถลง ปรึกษาหารือ เพื่อกำหนดทิศทางแนวนโยบาย ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตาม ร่วม ปรับปรุงแก้ไข และร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทุกฝ่ายในสังคมรู้สึกว่าเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะนั้นร่วมกัน
  2. เป็นกระบวนการของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
  3. เป็นกระบวนการทำงานด้วยยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาที่ยากและซับซ้อน โดยพึ่งพาพลัง 3 ส่วน ที่เชื่อมโยงกัน คือ พลังทางปัญญา พลังทางสังคม และพลังแห่งอำนาจรัฐ หรืออำนาจทางการเมือง

ความหมาย

กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ หรือความมีสุขภาพของประชาชนโดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม

การประยุกต์ใช้

มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. การทำงานวิชาการ ได้แก่ การรวบรวมข้อมูล สารสนเทศ จากแหล่งต่างๆ เพื่อการวิเคราะห์สถานการณ์ในประเด็นที่เป็นวาระของสมัชชา และทบทวนข้อเสนอและการดำเนินงานที่ผ่านมาโดยทีมวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง
  2. การทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละประเด็นที่เป็นวาระของสมัชชา เป็นการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ ให้ร่วมรับรู้ และร่วมเรียนรู้เพื่อให้เกิดการร่วมคิด ในการวางจุดหมายเพื่อให้เกิดสุขภาวะ โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงาน  ที่มอบให้แต่ละภาคส่วนรับไปดำเนินการต่อไป
  3. การติดตามผลสรุปจากการจัดสมัชชา  เป็นการติดตามข้อเสนอเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงาน  ที่มอบให้แต่ละภาคส่วนรับไปดำเนินการต่อ ว่ามีความเป็นไปได้ เกิดการปฏิบัติ และเกิดผลอะไร อย่างไร
  4. การสื่อสารสาธารณะ การจัดสมัชชาสุขภาพเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับสังคม โดยจัดให้มีการสื่อสารสาธารณะด้วยรูปแบบและช่องทางต่างๆ ที่เหมาะสมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการจัดสมัชชาสุขภาพเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมร่วมรับรู้และมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมด้วย

ตัวอย่าง

สมัชชาองค์การอนามัยโลก(World Health Assembly) จัดโดยองค์การอนามัยโลก เป็นการจัดทำนโยบายสุขภาพสำหรับทั่วทั้งโลก(Global Health Policy) จุดหมายหลักคือการจัดทำข้อตกลงของประเด็นสุขภาพที่สำคัญในแต่ละปี  ข้อตกลงแต่ละประเด็นจะมี 2 ส่วน ส่วนแรกกล่าวถึงเหตุผลความสำคัญรวมถึงการอ้างอิงข้อมูลวิชาการ ข้อบัญญัติ กฎหมายต่างๆ ส่วนที่สองมีเนื้อหาเชิงนโยบาย มาตรการ ข้อปฏิบัติ เป็นการระบุว่าประเทศสมาชิกและองค์การอนามัยโลก ต้องทำอะไรบ้างในประเด็นนั้นๆ

แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  1. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
  2. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข