ย้ำมติสมัชชาไม่เอาปิโตรเคมี จับตารัฐหูทวนลมเสียงประชาชน(ตอนที่ 1)

by chonpadae @8 ก.พ. 55 00.14 ( IP : 223...246 ) | Tags : จับกระแสสมัชชา , สมัชชาสุขภาพภาคใต้

รายการสมัชชาสุขภาพทางอากาศ  สถานีวิทยุ FM 88.0 MHz มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)
ประจำวันเสาร์ที่ 17ธันวาคม 2554 ดำเนินรายการโดยอรุณรัตน์ แสงละอองและบัญชร วิเชียรศรี
ติดตามความคืบหน้ามติสมัชชาสุขภาพภาคใต้ 2552 วาระแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืนต่อจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีอาจารย์ประสาท มีแต้มมาเป็นวิทยากรโดยครั้งนี้เป็นมุมมองจากตัวแทนสมัชชาสุขภาพภาคใต้ 2 ท่านคือศยามล ไกรยูรวงศ์ และกิตติภพ สุทธิสว่าง
              ศยามล ไกรยูรวงศ์ กล่าวว่าข้อเสนอของสมัชชาต่อแผนพัฒนาภาคใต้ ได้นำเสนอแนวทาง หลักการ ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ยั่งยืน เน้นการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ของภาคใต้โดยเฉพาะประเด็นเกษตร การศึกษา และท่องเที่ยว  ผ่านภาพมองว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะไม่สอดคล้องกับการพัฒนาภาคใต้เพราะส่งผลกระทบต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
            “ภาคใต้เป็นระบบนิเวศน์ปากแม่น้ำและเป็นป่าฝนเขตร้อน มีปัญหาที่ต้องตระหนักคือการกัดเซาะชายฝั่ง การพัฒนาเศรษฐกิจเน้นท้องถิ่นเพราะมองว่าการพัฒนา 3 ภาคส่วนหลักข้างต้นเป็นทิศทางของการพัฒนารายได้สำคัญ คนใต้พึ่งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และการเกษตรอื่นที่ยังรอการพัฒนา” เธอเล่าและว่า
ที่ผ่านมาทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์จะใช้วิธีจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการมองว่าภาคใต้ควรพัฒนาแบบไหน อาจจัดเวทีให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วย  ซึ่งเมื่อพ.ศ. 2552 รายงานของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวมความเห็นคนใต้เอาไว้ชัดว่าคนใต้ไม่ได้ค้านอุตสาหกรรม แต่ขอให้เป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับพื้นที่โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตร
            “นี่เป็นข้อเสนอที่ชัดเจนแต่ว่าหลังจากนั้นสภาพัฒน์ก็ยังดำเนินการต่อไปตามแนวทางของสภาพัฒน์เอง โดยจ้างธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนาศึกษาอีกครั้ง เกิดทิศทางมองการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่เรียกว่าสะพานเศรษฐกิจ โซนฝั่งตอนบนเชื่อม ชุมพร-ระนอง  ตอนกลาง พังงา -นครศรีธรรมราช ตอนใต้คือสตูล –สงขลา”
            โดยเหตุนี้ศยามลเล่าว่าคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้( กป.อพช.ภาคใต้) จึงมีความเห็นว่าควรเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ  ที่อยากให้ทำแผนพัฒนาภาคใต้โดยไม่ใช้บริษัทที่ปรึกษาแต่ควรดึงประชาชนทุกภาคส่วนมาจัดทำเรื่องนี้ และให้สภาพัฒน์เป็นที่ปรึกษา
            มติสมัชชาปี 2552 เห็นด้วยในหลักการ เมื่อส่งเข้า ครม.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเห็นด้วย เมื่อ 20 กรกฎาคม 2554 ว่า ให้ชะลอการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ออกไปก่อนแล้วพิจารณาแผนพัฒนาภาคใต้ขึ้นใหม่ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามมติของสมัชชา
            อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงพบว่า สภาพัฒน์อีกนั่นเองที่ไม่ขยับตามมติ ครม. เจ้าของโครงการต่างๆ ก็ยังเดินหน้าทำไปตามแผนตัวเอง  กป.อพช.ภาคใต้  สภาองค์กรชุมชน นักวิชาการอิสระ สภาพัฒนาการเมือง  และเครือข่ายสุขภาพ ต่างเห็นร่วมกันว่า ต้องติดตามวาระนี้ให้ปฏิบัติตามมติสมัชชาปี 2552 ให้ได้
            “เขาบอกว่าได้ดำเนินงานแล้วตามมติ แต่บอร์ดสภาพัฒน์ตัดสินใจจ้างบริษัทที่ปรึกษาอีกครั้งหนึ่งทั้งกรณีบริษัทเอกชนและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกรณีการมีส่วนร่วมกรณีสะพานเศรษฐกิจสงขลา - สตูล  จึงเห็นว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามมติ จึงนำมาสู่การติดตามมติเสนอไปยังรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกครั้งให้ปฏิบัติตามมติ”
            สิ่งที่สภาพัฒน์ดำเนินการขัดแย้งกับมตินี้เป็นประเด็นทำให้มีการคุยกันว่าสิ่งที่สมัชชาทำ ซึ่งเป็นกระบวนการทางกฎหมาย กลับไม่มีความหมายเลย เพราะขนาดรัฐบาลเห็นด้วยแต่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการไม่ปฏิบัติตาม
          “ถ้าอย่างนั้น  พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ก็ไร้ความหมาย เพราะมติสมัชชาทำตามกฎหมาย แต่หน่วยงานราชการกลับไม่ปฏิบัติตาม เป็นประเด็นที่เราจะถามนายกยิ่งลักษณ์ว่าเป็นข้อปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นข้อห่วงใยของคนใต้ ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามมตินี้แสดงว่า มติสมัชชาเป็นเสือกระดาษเลยไม่มีการฟังเสียงของประชาชน”ศยามลกล่าว และเล่าย้อนไปถึงกระบวนการสมัชชา ในฐานะเธอเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานวิชาการว่าเกิดจากการคุยกับทุกภาคส่วนของสังคมในปี 2552 คัดกรองความเห็นจนได้ร่างเอกสารหลักกับมติข้อเสนอนำเข้าสู่ที่ประชุมของสมัชชาภาคใต้  และนำเข้าสมัชชาชาติ
          “เป็นกระบวนการที่ทุกภาคส่วนไม่เฉพาะประชาชน รวมทั้งภาคราชการ และท้องถิ่นมาร่วม ซึ่งผู้นำท้องถิ่นบางแห่งที่มาร่วมก็เห็นด้วยว่าภาคใต้ไม่ควรพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” ต่างเห็นว่าเนื่องจากเป็นขบวนการส่วนร่วมภาคประชาชน ที่มีความหลากหลาย รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ต้องฟังเพื่อนำไปตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างจริงจัง
          “มติสมัชชาคือให้พื้นที่ภาคประชาชนเข้ามานำเสนอแล้วเข้าช่องทางกฏหมายเพื่อให้พื้นที่กับประชาชน ถ้ารัฐบาลไม่ทำก็จะมีประชาชนเข้าไปเรียกร้องมากยิ่งขึ้น  ความขัดแย้งก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ”


ถนอม ขุนเพ็ชร์ ....เรียบเรียง

Relate topics